…จากวิศวกรรมศาสตร์ก็ข้ามสายมาด้านคณิตศาสตร์เพราะสนใจการคำนวณ และก็กระโดดมาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะการอนุรักษ์โบราณสถาน ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่เรามีทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อช่วยอนุรักษ์โบราณสถาน เป็นเส้นทางของ “นักวิทย์-นักคณิต-วิศวกร” ที่ชื่อ “ดร.มงคล แก้วบำรุง” อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา ที่นอกจากจะมีบทบาทในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว อีกบทบาทหนึ่งยังเป็น “นักอนุรักษ์โบราณสถาน” อีกด้วย โดยบทบาทหลังนี้เกิดจากความชอบและหลงรักเป็นการส่วนตัว ที่ผลักดันให้มาทำงานตรงนี้ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวน่าสนใจของผู้ชายคนนี้มานำเสนอ…

ดร.มงคล หรือ อาจารย์หมง” เจ้าของเรื่องราว เล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังว่า พื้นเพเป็นชาว จ.พังงา โดยได้ใช้ชีวิตเติบโตอยู่ที่บ้านเกิดมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเขาเป็นลูกคนสุดท้องของ คุณพ่อ-วิรัตน์ กับ คุณแม่-ผ่องศรี และมีพี่สาว 1 คนชื่อ มาลี ส่วนด้านการศึกษานั้น เขาเล่าว่า เรียน กศน. ช่วง ม.1 จนถึง ม.5 จนเมื่อสามารถสอบเทียบ ม.6 ได้ จึงตัดสินใจลองไปสอบเอนทรานซ์ และก็สามารถสอบเข้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้สำเร็จ

ที่บ้านผมมีอาชีพทำสวนยาง ด้วยความที่ฐานะไม่ดี ทำให้พี่สาวต้องยอมลาออกจากโรงเรียนตอนที่เขาเรียนอยู่ชั้น ป.6 เพื่อออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงินส่งเสียให้ผมเรียน ซึ่งที่บ้านไม่เคยขีดเส้นไว้ว่าต้องเรียนอะไร จะปล่อยให้เราเลือกเอง โดยพ่อแม่และพี่สาวจะบอกผมเสมอว่าพวกเขาไม่มีความรู้อะไร ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนทำให้ผมได้คือการหาเงินส่งเสียเพื่อให้ผมเรียน ผมจึงมีหน้าที่เรียนอย่างเดียว ส่วนเรื่องงานหนัก ผมไม่ต้องทำ ไม่ต้องตื่นตี 1-ตี 2 ออกไปกรีดยาง ไม่ต้องจับจอบไปขุดดินเหมือนที่พ่อแม่และพี่สาวทำ ดังนั้นเมื่อผมได้โอกาสนี้จากครอบครัว ทำให้ผมต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อตอบแทนพระคุณทั้ง 3 คน ดร.มงคล เล่าถึงฉากชีวิตในครั้งอดีต

พร้อมเล่าต่อไปว่า หลังเรียนจบปริญญาตรี เขาก็เข้าทำงานบริษัทที่ย่านบางปะอิน และมีแผนการที่จะเรียนต่อระดับปริญญาโท แต่ช่วงนั้นยังหาสาขาที่ถูกใจไม่ได้ จนเมื่อมาเปลี่ยนที่ทำงาน เขาก็สมัครเรียนต่อปริญญาโท เพราะเจอสาขาที่ถูกใจแล้ว นั่นคือ สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เพราะเป็นอีกสาขาวิชาที่เขาชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเมื่อกำลังเรียนในสาขานี้ เขาก็ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของ “การไหลของอากาศ” ทำให้เริ่มรู้สึกหลงใหลเกี่ยวกับเรื่องของ “พลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ” จนเมื่อเรียนจบปริญญาโท เขาก็มีโอกาสได้เปลี่ยนงานอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้เข้าไปทำงานกับบริษัทเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ทำให้ได้นำเอาความรู้ด้านการคำนวณทางวิศวกรรมมาใช้เยอะขึ้น และทำให้ยิ่งได้ลงลึกกับศาสตร์นี้เพิ่มขึ้น จนครั้งหนึ่งเขาได้มีโอกาสได้ไปพรีเซนต์งานนำเสนอซอฟต์แวร์ให้กับทาง ศ.ดร.เบญจวรรณ วิวัฒนปฐพี ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยอาจารย์ท่านนี้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการไหลของเลือด โดยตัวซอฟต์แวร์ที่เขาได้นำไปพรีเซนต์นั้น นอกจากจะสามารถช่วยการคำนวณการไหลของอากาศได้แล้ว ยังสามารถคำนวณการไหลของเลือดในร่างกายมนุษย์ได้อีกด้วย ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า หลังจากนำเสนอเสร็จ ทางอาจารย์เบญจวรรณได้ถามเขาว่าอยากจะเรียนต่อปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์มั้ย เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณการไหลของเลือดและการส่งถ่ายยาเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยโรคหัวใจ เขาจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์ จนเขาได้เข้าเรียนปริญญาเอกที่ ภาคคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในที่สุด

ยอมรับว่าเราค่อนข้างข้ามสาย จากวิศวกรรมมาคณิตศาสตร์ โดยที่เลือกเรียนด้านคณิตศาสตร์เพราะคิดว่าจะสามารถนำความรู้ที่เพิ่มขึ้นนี้นำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ที่เรามีพื้นฐาน นั่นคือการไหลเชิงคำนวณ เพราะเราได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์เบญจวรรณว่า ไม่ว่าจะเป็นการไหลของอากาศ หรือเลือดในร่างกายมนุษย์ ก็เป็นการไหลที่ใช้สมการเดียวกัน ซึ่งเราสามารถนำสมการนี้ไปช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ผมก็เลยตัดสินใจเรียนเพราะหวังว่าความรู้ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้ในอนาคต แค่เพียงสัก 1% ก็ยังดี เป็นความตั้งใจของ ดร.มงคล

ลงพื้นที่สำรวจตามวัดโบราณ

เขาเล่าอีกว่า ช่วงเรียนปริญญาเอก เขาได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการนำหลอดเลือดหัวใจของมนุษย์จริงที่ได้จากซีทีสแกนมาใช้คำนวณการไหลและการปล่อยอนุภาคยาเข้าไปในหลอดเลือด เพื่อที่จะได้รู้ว่ายาที่เข้าไปกระทบกับหลอดเลือดแล้วนั้นจะเกิดแรงที่จะทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายหรือไม่ จนองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถพัฒนาประสิทธิภาพในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมาก ซึ่งเป็นการนำเอาคณิตศาสตร์ และสมการทางคณิต มาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้แพทย์ที่ทำการรักษามองเห็นการเคลื่อนไหวของเลือดภายในหลอดเลือดของหัวใจผู้ป่วย เพราะด้วยความสามารถของตัวโปรแกรมและพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ ทำให้แพทย์สามารถเห็นทุกจุดที่อยู่ในหลอดเลือดหรือในจุดที่เครื่องมือเข้าไปไม่ถึงได้อย่างชัดเจน งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัล Popular vote จากการไปพรีเซ็นต์ในงานของมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยครับ เขาบอกเรื่องนี้

ส่วนการที่มาสนใจการนำความรู้คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้เข้ากับการ “บูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบราณ” นั้น เรื่องนี้ ดร.มงคล เล่าว่า หลังเรียนจบปริญญาเอกเขาก็ทำงานได้ระยะหนึ่ง จนประมาณปี 2561 เขาต้องตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เนื่องจากตัวเองป่วยเป็นไข้เลือดออก ทำให้ต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานนับเดือน และพอหายกลับมา ปรากฏว่าร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาพักฟื้นตัวเองอยู่ที่บ้าน ซึ่งในช่วงที่พักฟื้นอยู่นั้น เขาต้องออกไปตระเวนแก้บนตามวัดต่าง ๆ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากช่วงที่ป่วยหนักทั้งพ่อ พี่ไพโรจน์ (พี่ชายบุญธรรม) และพี่สาวต่างตระเวนไปบนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อขอให้เขาหายป่วยและรอดชีวิตจากอาการป่วยที่เป็นอยู่ ทำให้เมื่อรอดตายมาได้จึงต้องตระเวนไปแก้บนตามวัดต่าง ๆ ซึ่งในเวลานั้นเองที่ทำให้ได้มีโอกาสชื่นชมความงดงามของศิลปะภายในวัดโบราณ จนเกิดความหลงใหล และอยากจะอนุรักษ์โบราณสถานและงานศิลปะโบราณเหล่านี้

งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง

ครั้งหนึ่งมีโอกาสไปนั่งในอุโบสถ วัดใหม่ชุมพล อยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าทรงธรรม ทำให้ได้เห็นจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม แต่น่าเสียดายที่ภาพนั้นเลือนรางไปมาก ทำให้เกิดคำถามในใจว่าทำไมภาพเหล่านี้ถึงเสื่อมสลาย ทำไมไม่อยู่คงทนถาวร และพอไปเห็นแบบนี้กับอีกหลาย ๆ วัด ที่บ้างก็เสื่อมเพราะโดนแดด หรือไม่ก็ถูกความชื้นในอากาศเล่นงาน จึงยิ่งรู้สึกเสียดายและเศร้ามาก ทำให้กลับมาคิดว่าเราเป็นนักพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ เป็นนักคณิตศาสตร์ และวิศวกร ก็น่าจะหาทางช่วยเรื่องนี้ได้ ก็เลยลองวิเคราะห์ดู จนพบว่าการไหลของอากาศในโบสถ์บางแห่งค่อนข้างผิดหลักการ เพราะมีการเปิดประตูรับความชื้นจากแม่น้ำเข้ามา และมีแสงแดดเข้ามากระทบภาพ ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเกิดการเสียหายเร็ว นี่เป็นจุดเริ่มทำให้อยากใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เข้าช่วยบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณเหล่านี้ เป็นจุดเริ่มต้นการเป็น “นักอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมโบราณ” ของอาจารย์หมง

หลังจากนั้น ทาง ดร.มงคล ได้เล่าว่า เขาได้เจอหัวหน้าเก่าของเขา และได้ชักชวนให้เขาไปร่วมงานของเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทยที่ จ.อุดรธานี และได้ขอให้เขาช่วยเขียนบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ เขาก็ได้ตอบตกลง โดยตอนที่กำลังจะลงมือเขียนนั้น เขาก็ได้ย้อนนึกถึงการเสื่อมสลายของภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่ได้ไปเห็นตามวัดต่าง ๆ ในพื้นที่อยุธยาขึ้นมา ซึ่งก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนบทความทางวิชาการเรื่องแรก โดยเขาเขียนเกี่ยวกับ การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดโบราณ ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็น “บทความวิจัยดีเด่น” โดยเขาเล่าถึงเรื่องนี้ว่า…

ตอนที่บทความนี้เผยแพร่ ปรากฏมีนักวิชาการท่านอื่นให้ความสนใจมาก โดยมีอาจารย์บางท่านบอกว่า ผมน่าจะเป็นคนแรก ๆ ของประเทศที่นำเอาศาสตร์คณิตศาสตร์ขั้นสูง วิศวกรรม และโบราณคดี มาผสมรวมกัน ซึ่งตอนนั้นเราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นคนแรกหรือเปล่า แต่ก็รู้สึกดีใจที่มีอาจารย์ท่านอื่นเห็นคุณค่าในงานนี้

กับคุณพ่อ-พี่สาว-หลานสาว

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาเขาก็ได้มาเป็น อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา และได้ไปสังกัดอยู่ที่คณะวิศวกรรมเครื่องกล-ระบบราง ซึ่งระหว่างที่มาสอนหนังสือที่อยุธยานี้เอง เขาก็เริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังอย่างต่อเนื่อง จนผลงานที่ส่งไปตีพิมพ์ในงานเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทยนั้นได้รางวัลบทความวิจัยดีเด่นติดต่อกันถึง 4 ปีซ้อน และในระหว่างนั้นเองเขาก็ได้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ของ กรมศิลปากร ที่เป็นผู้ชำนาญการพิเศษ เพราะเจ้าหน้าที่ท่านนี้ให้ความสนใจงานวิจัยที่เขาศึกษาอยู่ ทำให้ในที่สุดเขาก็จึงได้มาร่วมมือกับทางกรมศิลปากรเพื่อทำวิจัยร่วมกัน โดยเริ่มจากการเข้าไปร่วมทำงานในโครงการบูรณะจิตรกรรมฝาผนัง วัดจรรย์ จ.สุพรรณบุรี และวัดอื่น ๆ ต่อมาเรื่อย ๆ

ตอนนี้ที่ทำอยู่คือการวางแผนเพื่อบูรณะจิตรกรรมฝาผนังวัดราชบูรณะ อยุธยา ซึ่งโครงการนี้ใช้เงินทุนส่วนตัว เพราะตอนนี้ยังไม่มีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ จึงตัดสินใจใช้เงินทุนตัวเอง โดยใช้วิธีหักเงินเดือนทุกเดือน เดือนละ 10% เพื่อนำไปจ้างบริษัทที่มีเครื่องสแกน 3 มิติ ให้เข้ามาสแกนบริเวณพระปรางค์ที่มีภาพจิตรกรรมและพื้นที่โดยรอบ เพื่อนำไปศึกษาการไหลของอากาศภายในและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศภายนอก ที่จะมีผลต่อภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นโครงการบูรณะสำคัญซึ่งเกิดจากทุนส่วนตัวที่ ดร.มงคล “เจียดเงินเดือนทุกเดือนมาทำโปรเจกต์”

ทั้งนี้ ดร.มงคล ทิ้งท้ายกับ “ทีมวิถีชีวิต” เกี่ยวกับ “โปรเจกต์สำคัญ” ที่กำลังทำอยู่นี้ โดยเฉพาะกับ “ปุจฉา” ที่เรามีเกี่ยวกับ “ทุนบูรณะ” ซึ่งเขาระบุว่า เนื่องจากทางราชการไม่มีงบประมาณส่วนนี้มากนัก เขาจึงตัดสินใจใช้เงินทุนส่วนตัวของตนเอง เพราะเขาคิดว่าเรื่องนี้รอไม่ได้ เพราะหากปล่อยให้ช้ากว่านี้ ภาพโบราณเหล่านี้อาจเสื่อมสลายหายไปตลอดกาล… จริง ๆ โปรเจกต์นี้เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพียงแต่เราเข้าไปหาวิธีการที่จะช่วยยืดอายุจิตรกรรมฝาผนังเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการพยายามคิดค้นและหาวิธีที่จะชะลอการเสื่อมของมรดกชาติเหล่านี้ให้ยาวนานที่สุด ซึ่งก็ยอมรับว่าไม่รู้จะทำได้แค่ไหน แต่ก็ยืนยันว่า…

จะพยายามทำให้ดีที่สุด.

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดช้างใหญ่ อยุธยา

‘เรื่องเร่งด่วนมากของคนไทย!!!’

“อาจารย์หมง-ดร.มงคล แก้วบำรุง” ยังย้ำกับ “ทีมวิถีชีวิต” ด้วยว่า ในทัศนะของเขาแล้ว เขามองว่า การยืดอายุหรือชะลอการเสื่อมสภาพของจิตรกรรมโบราณ เป็นเรื่องเร่งด่วนมากของคนไทยที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน เพราะถ้าหากภาพโบราณล้ำค่าเหล่านี้เสื่อมสลายลงไปโดยที่ไม่ได้มีความพยายามที่จะชะลอหรือยืดอายุไว้ ประเทศไทยอาจไม่หลงเหลือศิลปะล้ำค่าส่วนนี้เก็บเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาอีกเลย ดังนั้นถึงแม้ตอนนี้จะยังทำได้ไม่มาก แต่ก็ต้องเริ่มต้นลงมือทำ… เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำครับในมุมมองของผม ซึ่งผมสำรวจวัดแทบทุกวัดในอยุธยาไว้เกือบครบหมดแล้ว แต่ตอนนี้ขั้นแรกที่ตั้งใจไว้คือ ขอทำที่วัดราชบูรณะให้สำเร็จเสียก่อน ซึ่งถ้าทำสำเร็จแล้ว ผมหวังว่าจะได้ขยายไปยังวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ต่อไป และที่ฝันเอาไว้เลยคือ ผมหวังว่าองค์ความรู้ที่เรามีอยู่นี้จะสามารถช่วยวัดโบราณอื่น ๆ ได้ทั่วประเทศด้วย.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน